เรียนรู้การ วัดขนาดห้องคอนโด ด้วยตัวเอง

มีใครเคยสงสัยมั้ยคะ ว่าเวลาเราซื้อคอนโดมาสักห้อง ทำไมหน้าตาพื้นที่ในโฉนดถึงมีลักษณะแปลกตาไม่เหมือนที่เราเห็นจริง
หรือแม้แต่ขนาดของห้องที่มีการเพิ่มหรือลดลงปจากขนาดจริงที่ตกลงตอนซื้อขาย
ยกตัวอย่างเช่น เราตั้งใจซื้อขนาดห้องคอนโดแบบ 1 ห้องนอนขนาด 30 ตร.ม. แต่ขนาดตามโฉนดอาจเพิ่มขึ้นเป็น 30.24 ตร.ม.
หรือแหว่งออกไปเป็น 29.78  ตร.ม. เป็นต้น แล้วหน้าตาพื้นที่ที่แปลกไปรวมทั้งขนาดของห้องที่ไม่ตรงกันนี้เกิดจากอะไร
ทางกรมที่ดินมีวิธี วัดขนาดห้องคอนโด อย่างไร วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันค่ะ

.

สำหรับสาเหตุที่รูปร่างของห้องแปลกไปเกิดจากการหักลบส่วนที่ต้องเป็นพื้นที่ส่วนกลางออกเหลือเพียงส่วนที่เราถือครองจริงเท่านั้น
โดยวิธีการวัดพื้นที่ห้องตาม “พระราชบัญญัติอาคารชุดฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551” จะมีวิธีวัดดังนี้

.

วิธี วัดขนาดห้องคอนโด

ขนาดห้องส่วนที่เราถือครองได้ (ส่วนที่ปรากฎและนับรวมในโฉนด)

  1. ผนังที่กั้นระหว่างห้องเรากับโถงทางเดิน ให้นับเป็นพื้นที่ห้องของเราทั้งหมด
    เช่น ผนังห้องฝั่งที่ติดกับโถงทางเดินมีความหนา 10 ซม. ก็นับความหนา 10 ซม. เข้ารวมด้วย
  2. ผนังที่กั้นระหว่างห้องของเรากับห้องคนอื่น โดยจะแบ่งกรรมสิทธิ์กันคนละครึ่ง
    เช่น ผนังหนา 10 ซม. ให้แบ่งคนละ 5 ซม. นับจากจุดกึ่งกลาง
  3. พื้นที่วางคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ ถ้ามีขอบเขตชัดเจนก็นับเป็นพื้นที่ห้องด้วย
    หากว่าแขวนอยู่ในส่วนของระเบียงก็นับรวมกับระเบียงทีเดียวเลย แต่หากไม่ชัดเจน
    เช่น ทำเป็นโครงเหล็กแขวนยื่นออกไปกลางอากาศก็ไม่ต้องนับนะคะ
  4. พื้นที่จอดรถสำหรับโครงการที่มีการจัดสรรช่องจอดรถแบบล็อคกรรมสิทธิ์ให้กับลูกบ้านแต่ละห้อง
    จะมีการวาดระบุเข้าไปในหน้าใบโฉนดด้วยและนับรวมเป็นพื้นที่ในโฉนดด้วย
    แต่หากไม่มีการล็อคกรรมสิทธิ์จะถือเป็นพื้นที่ส่วนกลาง จะไม่นับรวมเป็นพื้นที่ของเรานะคะ

ขนาดห้องส่วนที่ไม่นับรวมในพื้นที่ห้อง (ไม่ปรากฎและไม่นับรวมในโฉนด)

  1. เสาและโครงสร้างอาคาร
    เสาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอาคารและเป็นส่วนกลางของโครงการ
    การนับกรรมสิทธิ์ให้วัดจากขอบผนังฝั่งด้านในห้อง และนี่เป็นสาเหตุให้ห้องเราดูแหว่งๆ ไปในโฉนดนั่นเอง
  2. ผนังฝั่งที่ติดกับภายนอกอาคาร
    ถือว่าเป็นในส่วนของโครงสร้างอาคารเหมือนกับเสา
    ไม่นับรวมในโฉนดนั่นเอง การนับกรรมสิทธิ์ให้วัดจากขอบผนังฝั่งด้านในห้องเช่นกัน
  3. ผนังของปล่องลิฟต์
  4. ปล่องท่อหรือช่องชาร์ฟ (Shaft) เช่น ปล่องท่อประปา ท่อเดินสายไฟฟ้า
  5. ส่วนผนังที่ติดกับผนังช่องท่อหรือผนังของบันไดหนีไฟ
    แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางแต่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอาคาร
    ไม่ได้นำมานับรวมแบบกรณีผนังหน้าทางเดินนะคะ การนับกรรมสิทธิ์ให้วัดจากขอบผนังฝั่งด้านในห้องเช่นกัน

.

เมื่อเราทราบส่วนที่นับรวมและไม่นับรวมแล้ว ต่อไปเรามาดูวิธีการวัดความกว้าง ยาวรอบห้องกันค่ะ

สำหรับวิธีการคำนวณนั้นทำได้โดยใช้สูตร กว้าง x ยาว = พื้นที่ห้อง โดยจะใช้หน่วยเป็น ตารางเมตร
เช่น นาย A ซื้อห้องชุดมาวัดความกว้างรอบห้องได้ 7 เมตร และวัดความยาวรอบห้องได้ 8 เมตร
พื้นที่ห้องชุดของนาย A จะมีขนาดดังนี้  7 x 8 = 56 ตร.ม.

.

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากพื้นที่สุทธิที่เราได้ครอบครอง เพิ่มขึ้นหรือน้อยลงนั่นเกิน 5% ของพื้นที่เดิมตามหน้าสัญญาขาย
ผู้ซื้อสามารถเลือกที่จะปฏิเสธการรับโอนและเรียกร้องเงินดาวน์คืนได้นะคะ และหากเป็นการซื้อห้องมือสองก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร
เพราะมีขนาดพื้นที่ที่ชัดเจนอยู่แล้ว โดยผู้ซื้อสามารถสอบถามจากนายหน้าคอนโดได้เลยค่ะ

เรียนรู้การ วัดขนาดห้องคอนโด ด้วยตัวเอง

______________________________________________________________________

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ : https://shinyurealestate.com/article/category/knowledge

หรือ https://www.facebook.com/Shinyu-Real-Estate-Official-100529669046345