ทันทีที่ผู้เช่าชาวต่างชาติเข้าห้องพักที่คุณปล่อยเช่า คุณอาจคิดว่าหน้าที่ในฐานะของเจ้าบ้านได้เสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ไม่ใช่เช่นนั้นค่ะ เพราะสิ่งที่ต้องทำในขั้นตอนต่อไปก็คือการแจ้ง ‘ TM. 30 ’ หรือ การแจ้งข้อมูลของลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาพักในห้องของเรา ให้กับที่ทำการตรวจคนเข้าเมือง หรือสถานีตำรวจในท้องที่ ได้รับทราบ ตามพระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

การแจ้ง TM. 30 นี้ ไม่ว่าใครที่ประกอบกิจการโรงแรม เกสเฮ้าส์ แมนชั่น อพาร์ตเม้นท์ สถานประกอบการ หรือบ้านเช่า ก็ต้องทำการแจ้งว่ามีชาวต่างชาติเข้าพักอาศัย ‘ภายใน 24 ชั่วโมง’ นับจากเวลาเข้าพัก และที่สำคัญก็คือ ชาวต่างชาติผู้นั้นต้องได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ต้องผ่านการตรวจเข้าเมืองตามกฎหมาย ต้องเข้ามาประกอบอาชีพ หรือทำธุรกิจที่ถูกกฎหมาย ซึ่งหากเจ้าของห้องท่านใดไม่ปฎิบัติตาม จะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท นั่นเองค่ะ

สำหรับในส่วนของวิธีการแจ้ง TM.30 นั้น สามารถทำได้ 3 วิธีด้วยกัน ดังนี้

1. แจ้งด้วยตนเอง หรือ มอบหมายให้คนอื่นนำเอกสารมาแจ้ง

– ดาวน์โหลดแบบฟอร์มการแจ้งรับคนต่างชาติเข้าพักอาศัย http://bangkok.immigration.go.th/download/tm30.doc

TM.30 เอกสาร

TM.30 เอกสารรายชื่อชาวต่างชาติ

– ภายในแบบฟอร์มจะประกอบด้วยเอกสาร 2 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 ให้กรอกข้อมูลของเจ้าบ้าน เจ้าของ หรือผู้ครอบครองเคหะสถาน รวมถึงที่ตั้งของสถานที่ที่มีคนต่างชาติเข้าพัก แล้วลงชื่อผู้แจ้งให้เรียบร้อย
  • ส่วนที่ 2 จะเป็นบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่เข้าพักอาศัย ให้เจ้าบ้านกรอก ชื่อคนต่างด้าว สัญชาติ เลขหนังสือเดินทาง วันเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ประเภทวีซ่า วันครบกำหนดอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทย ช่องทางเข้า เลขที่บัตรขาเข้า (บัตรตม.6 ที่แนบมากับหนังสือเดินทาง) และ ความเกี่ยวพัน โดยในส่วนนี้ให้อิงข้อมูลจากหนังสือเดินทางของชาวต่างชาติเป็นหลัก และใช้วิธีพิมพ์หรือเขียนในการกรอกข้อมูลเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นการเขียนให้เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด และควรเว้นช่องว่างระหว่าง ชื่อ ชื่อกลาง และนามสกุลให้ชัดเจน

– นำแบบฟอร์มที่กรอกเสร็จเรียบร้อยไปยื่น โดยถ้าเคหสถานนั้นที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ให้แจ้งที่ แจ้งที่ช่องบริการ ‘แจ้งที่พักอาศัย’ ที่ศูนย์ราชการ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ ตามวันและเวลาราชการ แต่กรณีที่เคหสถานนั้นตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ให้แจ้ง ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในเขตพื้นที่ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ

2. แจ้งทางไปรษณีย์

  • กรอกแบบฟอร์มการแจ้ง ตามวิธีที่ 1
  • ใช้ซองจดหมายขนาด 6.5 x 9 นิ้ว ติดแสตมป์ 10 บาท จ่าหน้าซองถึงตัวเอง เพื่อส่งใบรับแจ้งของเจ้าหน้าที่คืน
  • นำแบบฟอร์มและซองจดหมาย ใส่ซองลงทะเบียน ส่งถึง ‘งานแจ้งที่พักอาศัยบุคคลต่างด้าวกองกำกับการ 2 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 7 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210’ แล้วอย่าลืมเก็บใบลงทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน

3. แจ้งทางอินเทอร์เน็ต

กรณีที่ลงทะเบียนขอใช้บริการแล้ว

– เข้าเว็บไซต์สำนักงานตรวจเข้าเมือง www.immigration.go.th จากนั้นให้เลือกไปที่ ‘ข้อมูลบริการ’ บริเวณแถบเมนูด้านบน จะมีอีกแถบเมนูขึ้นมาด้านล่าง ให้เลือก ที่ ‘เมนูบริการออนไลน์’ ตามด้วย ‘Notifications of Residence foreigners การแจ้งที่พักอาศัย’ เพื่อเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ระบบแจ้งที่พัก

TM.30 เว็บไซต์ตรวจคนเข้าเมือง

 

– พิมพ์รหัสผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และกรอกตัวอักษรภาพที่แสดงในช่องสีแดง แล้วกดตกลง ในส่วนนี้ หากท่านใดยังไม่มีชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่าน จะต้องทำการลงทะเบียนขอใช้บริการเสียก่อน

ระบบแจ้ง TM.30

–  เมื่อล็อกอินเข้าสู่หน้าระบบแจ้งที่พักแล้วให้คลิกไปที่เมนู ‘แจ้งรับคนต่างชาติเข้าพัก’ ตามด้วย ‘บันทึกแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพัก (สถานประกอบการ)’ จากนั้นก็ทำการกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มที่มีให้ เป็นอันเสร็จสิ้น

กรณีที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนขอใช้บริการ

– เข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ระบบแจ้งที่พัก https://extranet.immigration.go.th/fn24online/

– คลิกที่ปุ่ม ‘ลงทะเบียน’ บริเวณด้านล่างของหน้าการเข้าสู่ระบบแจ้งที่พัก จากนั้นจะเข้าสู่หน้าลงทะเบียน ให้กรอกข้อมูลให้ครบถ้วนและเป็นจริง

– รอเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตอบกลับ โดยระหว่างนั้นสามารถเช็คสถานะการลงทะเบียนของท่านได้ที่หน้าเว็บไซต์ระบบแจ้งที่พักเลือก ‘ลงทะเบียน’ ตามด้วย  ‘ตรวจสอบสถานะ’

– หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ทำการอนุมัติแล้วคำขอแล้ว เราจะได้รับ รหัสผู้ใช้งาน และ รหัสผ่าน ผ่านทางอีเมลที่ได้ลงทะเบียนไว้ เพื่อใช้ล็อกอินเข้าระบบแจ้งที่พักอาศัย

ขั้นตอนการแจ้ง TM.30

– ล็อกอินเข้าสู่หน้าระบบแจ้งที่พัก เลือกแถบเมนู ‘แจ้งรับคนต่างชาติเข้าพัก’ ตามด้วย ‘บันทึกแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพัก (สถานประกอบการ)’ เพื่อกรอกแบบฟอร์ม

ระบบแจ้งการยืนยัน TM.30

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าขั้นตอนการแจ้ง TM. 30 อาจค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน และใช้เวลาทีเดียว ดังนั้น เพื่อความสะดวกสบาย และป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นการดีกว่าที่จะเลือกใช้เอเจนซีที่ไว้วางใจได้ มาช่วยดำเนินการให้ทุกการปล่อยเช่าของเรานั้นเป็นไปอย่างไร้กังวล

แล้วถ้าคุณเลือกที่จะไม่แจ้ง TM.30 หรือลืมที่จะแจ้ง TM.30 จะมีโทษอย่างไร?

ตามกฎหมาย ระบุไว้ว่า ถ้าเจ้าของห้องพักไม่แจ้ง TM. 30 หรือไม่แจ้งว่ามีชาวต่างชาติมาเข้าพักอาศัยในห้องเช่าของตัวเอง จะถือว่าฝ่าฝืนกฎหมาย และต้องโดนปรับไม่เกิน 2,000 บาท ต่อชาวต่างชาติ 1 คน ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีชาวต่างชาติมาเช่าห้องของเรา 2 คน และเราไม่ได้แจ้ง TM.30 ภายใน 24 ชม. ก็จะต้องโดนโทษปรับ 2,000 x 2 = 4,000 บาท

.
ทั้งนี้ อีกหนึ่งข้อที่ต้องรู้ก็คือ หากชาวต่างชาติคนนั้น เดินทางออกนอกประเทศ หรือ เดินทางไปพักที่อื่น แล้วกลับมาพักกับเราใหม่ แม้ออกไปเพียงไม่กี่วัน เราก็จะต้องรายงาน TM.30 ใหม่อีกครั้ง ไม่เช่นนั้น จะถือว่าเราฝ่าฝืนกฎหมาย และต้องถูกปรับอยู่ดี เนื่องจากละเลยในการรายงานต่อเจ้าหน้าที่

.
ดังนั้น หากใครจะปล่อยเช่าให้ชาวต่างชาติ ก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับการแจ้งตม.30 กันด้วยนะคะ และสำหรับหลายๆ ท่านที่ปล่อยเช่าผ่านเอเจนซี ก็ควรจะเลือกเอเจนซีที่ไว้วางใจได้ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ เพราะถึงอย่างไร สุดท้ายแล้ว ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายก็คือเจ้าของห้อง

ไม่แจ้ง TM.30 มีความผิดอย่างไร

 

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ : https://shinyurealestate.com/article/category/knowledge

หรือ https://www.facebook.com/Shinyu-Real-Estate-Official-100529669046345