สัญญาจะซื้อจะขาย

ในการทำงานนายหน้า เอกสารสัญญาที่เราต้องใช้ในการทำงานนั้นมีอยู่หลายอย่าง
สัญญาฉบับหนึ่งที่มีความสำคัญและนายหน้าทุกคนควรรู้จักนั่นก็คือ “สัญญาจะซื้อจะขาย”
บางคนอาจจะเข้าใจว่าสัญญาฉบับนี้กับสัญญาซื้อขายนั้นเป็นสัญญาฉบับเดียวกัน
แต่ความจริงแล้วสัญญาจะซื้อจะขายนั้นเป็นสัญญาที่ใช้เมื่อลูกค้าตกลงตัดสินใจที่จะซื้อทรัพย์และมีการวางเงินมัดจำ
แต่เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถซื้อสดได้ และต้องดำเนินการขอสินเชื่อกับทางธนาคาร
สัญญาจะซื้อจะขายนี้ จะเป็นเอกสารที่จะใช้เพื่อแสดงเจตนาในการซื้อของผู้ซื้อ
รวมทั้งเป็นการแสดงเจตนาว่าผู้ขายจะไม่ขายทรัพย์นี้ให้กับบุคคลอื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด
และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการซื้อ ขายทรัพย์นี้ในระหว่างการดำเนินการดังกล่าว
ซึ่งรายละเอียดในสัญญาจะซื้อจะขายนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายอย่างวันนี้เราจะพามาดูกันว่า
สิ่งสำคัญที่เราจะต้องระบุในสัญญาจะซื้อจะขายมีอะไรบ้าง

.

#รายละเอียดการจัดทำสัญญา ส่วนนี้จะปรากฎอยู่บนหัวสัญญา
เพื่อบันทึกข้อมูลวันเวลาและสถานที่ที่มีการทำสัญญาขึ้น ถ้าหากไม่มีการระบุวันที่สัญญาเริ่มบังคับใช้ก็ถือว่าสัญญามีผลนับตั้งแต่วันที่ที่ปรากฎในส่วนนี้

.

#รายละเอียดของคู่สัญญา ส่วนนี้จะระบุรายละเอียดของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายทั้งชื่อ นามสกุล อายุ ที่อยู่
โดยใช้รายละเอียดตามที่แสดงในบัตรประชาชน และจะต้องมีสำเนาบัตรประชาชนของทั้งสองฝ่ายแนบท้ายสัญญาด้วย

.

#รายละเอียดทรัพย์ จะต้องระบุอย่างละเอียด
ไม่ว่าจะเป็น เลขที่ฉโนด ชื่อโครงการเลขที่บ้าน เลขยูนิต ชั้น ขนาดห้อง ประเภทห้อง รวมทั้งสิ่งที่จะขายพร้อมกับห้อง

.

#ราคาขายและรายละเอียดการชำระเงิน
ในสัญญาควรมีการระบุให้ชัดเจนว่าการซื้อขายจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่สำนักงานที่ดินที่ไหน
รวมทั้งรายละเอียดค่าใช้จ่าย และผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่ายนั้นๆ
เช่น ค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าอากร ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่านายหน้า รวมไปถึงภาษีหัก ณ ที่จ่าย

.

#รายละเอียดการส่งมอบทรัพย์
ในสัญญาจะต้องระบุระยะเวลาในการส่งมอบทรัพย์ให้กับผู้ซื้อว่าจะส่งมอบภายในระยะเวลากี่วันหลังมีการโอนกรรมสิทธิ์

.

#การผิดสัญญาและการระงับสัญญา
ในส่วนนี้จะกล่างถึงผลที่จะเกิดขึ้นต่อคู่สัญญาเมื่อมีการผิดสัญญาเกิดขึ้น โดยการแบ่งสัญญานั้นแบ่งออกเป็น 2 กรณี

  1. ฝ่ายผู้ซื้อผิดสัญญา เมื่อผู้ซื้อผิดสัญญาไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินส่วนที่เหลือ ผู้ขายสามารถริบมัดจำที่วางไว้ตอนทำสัญญาจะซื้อจะขายได้ทั้งหมด
  2. ฝ่ายผู้ขายผิดสัญญา หากผู้ขายไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ซื้อสามารถฟ้องร้องบังคับให้ผู้ขายปฏิบัติตามสัญญา รวมทั้งเรียกร้องค่าเสียหายต่างๆได้

.

#เงื่อนไขและข้อตกลงอื่นๆ ส่วนนี้จะเป็นข้อตกลงเพิ่มเติมที่คู่สัญญาตกลงกันล่วงหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
เช่น กรณีที่ต้องมีการชำระเงินหรือคืนเงินล่าช้า คู่สัญญามีสิทธิ์คิดดอกเบี้ยต่อกัน, ถ้ามีเอกสารที่ต้องส่งเพิ่มเติม จะต้องจัดส่งไปที่ไหน เป็นต้น

.

#การลงชื่อของคู่สัญญาและพยาน หลังจากที่คู่สัญญารับทราบและเข้าใจ
ข้อความในสัญญาแล้ว ต้องลงชื่อพร้อมทั้งพยานของฝ่ายตนเองให้รับทราบโดยสัญญาทั้ง 2 ฉบับจะต้องมีข้อความถูกต้องตรงกัน และทั้งสองฝ่ายเก็บไว้กันคนละ 1 ฉบับ

.

อย่าลืมใช้สัญญาจะซื้อจะขายในการทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญญาในระหว่างดีลด้วยนะคะ
และอย่าลืมตรวจสอบความถูกต้อง และส่วนที่จำเป็นในสัญญาให้ครบถ้วน เพียงเท่านี้ทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อและนายหน้าก็สามารถสบายใจและปิดดีลได้อย่างไม่มีปัญหาแล้วค่ะ

สัญญาจะซื้อจะขาย

______________________________________________________________________

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ : https://shinyurealestate.com/article/category/knowledge

หรือ https://www.facebook.com/Shinyu-Real-Estate-Official-100529669046345